อยากกินเบเกอรี่ แต่กลัวห่วงยางขยาย กลัวหัวใจอ่อนแอ กลัวเฮียแกจะไม่รัก ทำไงดี?

Homemade Spelt Bread

มันต้องมาเป็นระยะระยะกันบ้างอาการอยากอยากกินขนมเบเกอรี่ทั้งหลาย หากใจแข็งพอที่จะทนเห็นอาการยั่วยวนสายตาของ “นางขนม” ก็รอดพ้นมารบำเพ็ญเพียรบารมีกันต่อไป  แต่วันไหนที่เจอเรื่องหนักๆ หัวใจก็เรียกร้องอะไรเบาๆ และขอเติมความหวานกันบ้างเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เดินหน้ากันต่อไปโดยสวัสดิภาพ

หากมีโอกาสได้ทำขนมเองที่บ้าน ลองปรับเปลี่ยนสูตรกันเล็กน้อย และเติมเครื่องเคราพวกนี้ลงไปในขนมเพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกผิดมากเกินไป โดยส่วนตัวไม่ได้ชอบทานขนมนะคะ เป็นมานานแล้วตั้งแต่เด็ก คือไม่ใช่ไม่ทานเลยแต่จะทานของหวานน้อยกว่าคนทั่วไปยกเว้นช่วงประสาทแตกสติแตก อันนั้นถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายที่ร่ำหาแต่something sweet ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้มีความสมดุลมากขึ้นทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาวะสงบสุขได้ งดอ้วนไร้กังวล

1. “หันมาใช้ spelt flour” ชื่อนี้เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่ แต่ทางเมืองนอกเขาหันมาใช้แป้งนี้กันมากขึ้น สังเกตุจากตำราทำอาหารและทำขนมเดี๊ยวนี้มีสูตรที่ใช้แป้งทางเลือกกันค่อนข้างแพร่หลาย spelt flour ก็เป็นตัวนึง และสาเหตุที่เค้าต้องหันมาใช้แป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสีจนขาวผ่องเพราะอย่างที่เรารู้กันว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการมากๆนั้นสิ่งดีๆในตัวอาหารก็จะค่อยๆหลุดหายไปในแต่ละขั้นตอนการผลิต กว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ก็เรียกว่าทิ้งความดีงามไว้เบื้องหลังหมดแล้ว ล่อนจ้อนมาตัวเปล่าจริงๆ

Spelt Flour เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ซึ่งมันเจ๋งกว่าแป้งสาลีทั่วไปยังไงทำไมถึงดีกับสุขภาพ?

ต้น Spelt

จริงๆแล้วมันเป็นต้นข้าวชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบร่ำโบราณเป็นธัญพืชดึกดำบรรพ์กว่า 8000 ปีแถบเมโสโปรเตเมียซึ่งไม่ได้อยู่ในตระกูลข้าวสาลีหรอกแต่ละม้ายคล้ายคลึงกันเท่านั้นเองเพราะเป็นเครือญาติกัน จุดเด่นของแป้งชนิดนี้คือหน้าตาคล้ายแป้งสาลีเจือสีน้ำตาลอ่อนๆ แต่จับดูจะหยาบกว่า ให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าเพราะมันเป็นแป้งประเภท whole grain มีใยอาหารสูงและไม่กัดสี ถ้าเอาไปทำขนมจะดุไม่ขาวจั๊วน่าเจี๊ยะน่าขย้ำเหมือนใช้แป้งสาลีที่จะออกมาสวยใสแต่ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง แล้วทำไม spelt flour ที่ว่าดีถึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก นั่นก็เพราะมันออกผลผลิตน้อยกว่าข้าวสาลีมันเลยค่อยๆเลือนหายไปจากวงการอาหารราวศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันนี้ก็หาซื้อกันได้ง่ายมากขึ้น ที่ออสเตรเลียนี่ในห้างใหญ่ก็มีขาย ที่เมืองไทยเห็นวีรสุมีขายนะคะ แต่ที่อื่นก็น่าจะพอหาได้ลองสอบถามกันดูค่ะ

แป้ง Spelt และ Pizza base ที่ทำจากแป้ง Spelt

Spelt Flour เอามาประกอบอาหารอะไรได้บ้าง? ในบรรดาขนมอบเบเกอรี่ทั้งหลายก็ใช้แป้งชนิดนี้ได้แต่อาจจะไม่ได้เอาไปแทนได้ทันทีในสูตรขนมเดิมที่ใช้แป้งสาลี ให้ลองเสิชหาสูตรที่เค้าใช้ Spelt Flour หรือ ลองผิดลองถูกดูค่ะแล้วจดไว้ นอกจากเอาทำขนมได้แล้วยังเอามาทำเส้นพาสต้าหรือลาซานญ่าได้อีกด้วย มีการค้นพบว่า Spelt Flour ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษ เรียกว่า Mucopolysaccharides มีคุณสมบัติช่วยในการแข็งตัวของเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เชื่อว่าการกินSpelt Flour อาจช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจและมะเร็งบางชนิด และแป้งชนิดนี้ยังมี glutenในปริมาณน้อยกว่าแป้งสาลีจึงย่อยง่ายและคนแพ้แป้งสาลีก็กินได้

Spelt Flour Carrot Cake

2. นอกจากนั้นแล้วในขนมที่ทำลองเติมธัญพืชต่างๆลงไป อย่างวานิลลาเค๊กที่ทำก็จะเปิดตู้ควักๆๆหาว่ามีอะไรบ้าง ก็ใช้ทั้ง walnuts/ pine nuts/ brazil nuts/ linseeds/ เม็ดทานตะวัน หรือบางทีก็ใส่งาดำงาขาว ปกติควรมีถั่วและธัญพืชติดบ้านไว้หลากหลายชนิดแล้วเวลาทำอะไรที่จะเติมพวกนี้ได้ก็ใส่เข้าไปเพื่อให้มันมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วถ้าทำตามสูตรขนมฝรั่งตัวเองจะลดน้ำตาลลงครึ่งหนึ่งซึ่งบางทีก็ยังรู้สึกว่ามันหวานมากก็จะลดเหลือ 1ใน3 จากที่มีในสูตรก็ได้

3. เติมพวกผลไม้เข้าไปเช่นถ้าเป็นคนชอบทานพวก berries ทั้งหลายก็เอาโรยๆเข้าไป หรือถ้าลดน้ำตาลแล้วอยากเพิ่มความหวานโดยวิธีอื่นก็อาจจะสับพวกผลไม้ต้าแห้งใส่เข้าไป เช่นกล้วยตาก สับปะรดตากแห้ง แคนเบอรี่ตากแห้ง ลูกเกด ลูกพรุนเป็นต้น2013-07-22-21-10-37_deco1.jpg

ยอมรับว่าขนมพวกนี้มันพกพาง่าย ทานสะดวก แต่กินทีไรก็ไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไหร่ ทางออกที่พอช่วยได้ก็อย่างที่เขียนไว้ คือใช้แป้งที่มีไยอาหารสูง เติมพวกธัญพืชหรือถั่วลงไป ลดน้ำตาลและ ใส่ผลไม้เข้าไปเพิ่ม ลองปรับใช้ในสูตรขนมที่มีอยู่และยินดีให้ต่อสมาชิกภาพของสมาคมนิยมความหวานนนนนกันต่อไปค่ะ

Eat Me with Your Eyes … ติดตามอิ่มเอมกันได้ที่

Followme on Twitter @FoodWriterBlog
Facebook : Facebook.com/FoodWriterBlog
Pin me : Pinterest.com/FoodWriterBlog
Read me : FoodWriterBlog.wordpress.com

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ.

 

Blog at WordPress.com.